ทำความรู้จักและวิธีป้องกันโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก เป็นโรคไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้นอันตรายต่อชีวิต แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคนี้ อาจเกิดแผลในใจ เกิดความกังวลใจและทรมานกับใบหน้าอันบิดเบี้ยว ไม่สวยงามเหมือนคนอื่น
โดยโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก เกิดจากกล้ามเนื้อบนใบหน้าเกิดภาวะอัมพาตอย่างเฉียบพลัน ไม่อาจยืดหดได้ตามคำสั่งจากสมอง ส่งผลให้ใบหน้าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยไม่อาจตอบสนองหรือแสดงอารมณ์ต่าง ๆ ได้ตามที่ควร โรคนี้ อาจเกิดขึ้นได้กับผู้คนทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนใหญ่มันมักจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งคราวเท่านั้น แต่อาการมักจะเริ่มดีขึ้นเองภายใน2 – 3 สัปดาห์ และจะมีการฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ภายในเวลาประมาณ 6 เดือน จากจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดที่เคยเจอมา มีเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่ยังคงมีอาการหน้าเบี้ยวครึ่งซีกอยู่ตลอดเวลา
สาเหตุของโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก
สาเหตุที่แน่นอนของการโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกยังไม่อาจทราบอย่างชัดเจน แต่มีการคาดการณ์กันว่าอาจเป็นผลพวงมาจากอาการอักเสบของเส้นประสาท ซึ่งควบคุมกล้ามเนื้อด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้า ส่งผลทำให้กล้ามเนื้อเกิดอัมพาต นอกจากส่งผลกับกล้ามเนื้อใบหน้าแล้ว อาการอักเสบของเส้นประสาท ยังส่งผลต่อการควบคุมของการหลั่งน้ำตาและน้ำลายอีกด้วย โดยการอักเสบที่เกิดขึ้นนี้อาจเป็นผลที่เกิดขึ้นหลังจากการติดเชื้อไวรัสก็ได้ เช่น
- การติดเชื้อเริม
- เชื้ออีสุกอีใส
- เชื้อไวรัส Epstein-Barr
- การติดเชื้อ Cytomegalovirus
- การติดเชื้อ adenovirus
- หัดเยอรมัน
- คางทูม
- ไข้หวัดใหญ่
- Coxsackievirus ซึ่งทำให้เกิดโรคมือเท้าปาก เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก
โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกมักจะพบบ่อยมาก ในกรณีดังต่อไปนี้
- การตั้งครรภ์ โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 3 หรือคุณแม่ที่อยู่ในระยะสัปดาห์แรกหลังจากการคลอด
- มีการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนอยู่เป็นประจำ เช่น ไวรัสหวัด เป็นต้น
- เป็นโรคเบาหวาน
- กรรมพันธุ์
อาการของโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก
ส่วนใหญ่แล้วอาการของโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก มักจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน มักพบอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยมักเกิดเพียงแค่บริเวณครึ่งหนึ่งของใบหน้า อาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง เริ่มจากการควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าไม่ได้ , กล้ามเนื้อบนใบหน้าไม่อาจตอบสนองตามต้องการ , ยิ้มไม่ได้ , มุมปากเริ่มตก , หางตาตกตาม , น้ำลายไหลอย่างควบคุมไม่ได้ , เกิดอาการปวดบริเวณกรามหรือหลังใบหูในด้านซึ่งเป็นอัมพาต , หูในด้านมีการตอบสนองต่อเสียงเพิ่มมากขึ้น , เกิดอาการปวดหัว , ความสามารถในการรับรสลดต่ำลง , เกิดการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำตาและน้ำลายอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกจะเกิดขึ้นบริเวณข้างใดข้างหนึ่ง แต่ในบางครั้งอาการอัมพาตนี้อาจส่งผลต่อเส้นประสาททั้ง 2 ข้างบนใบหน้าก็ได้