โรคประสาทหลอนเกิดจาก

หลอน หรือ อาการประสาทหลอน เป็นอาการทางประสาทที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนได้สัมผัสสิ่งนั้นอยู่ ทั้งที่มันไม่มีอยู่จริง ไม่ว่าจะเป็นอาการเห็นภาพ ได้ยินเสียง ได้กลิ่น รับรู้รสชาติ ภาวะสมองล้า หรือเกิดความรู้สึก สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าวนั้นคือ อาการทางจิต หรือโรคทางจิต เช่น โรคจิตเภท หรือโรคจำพวกที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทต่างๆ อย่างโรคพาร์กินสัน นอกจากนี้อาการเหล่านี้ยังสามารถที่จะเกิดขึ้นได้กับผู้ที่ใช้ยาบางชนิดที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ หรือผู้ที่มีอาการถอนยาและใช้ยาเสพติด หากพบว่าตัวเอง หรือคนใกล้ชิด มีอาการดังกล่าวควรที่จะพบแพทย์ เพื่อที่แพทย์นั้นจะได้ช่วยแนะนำควบคุมอาการ และดูแลให้อาการดีขึ้นได้ในระยะยาว เพราะอาการเหล่านี้มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
อาการหลอนประเภทต่างๆ
- การเห็นภาพหลอน ผู้ป่วยสามารถเห็นภาพหรือเหตุการณ์ขึ้นมาเองได้ โดยที่สิ่งเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริง อาจจะเห็นเป็นวัตถุ รูปภาพ ผู้คน หรือแสง เช่น การเห็นแสงที่คนอื่นไม่เห็น
- อาการหูแว่ว ผู้ป่วยอาจที่จะได้ยินเสียงที่ดังขึ้นมาจากจิตใจ หรือดังมาจากภายนอก อาจจะเป็นเสียงเรียก เสียงคนคุยกัน แต่ในความเป็นจริงนั้นไม่มีเสียงเหล่านี้เกิดขึ้น
- ประสาทหลอนทางการได้กลิ่น ผู้ป่วยอาจจะคิดว่าสิ่งที่ตนเองกำลังได้กลิ่นนั้นอาจจะมาจากบางสิ่งบางอย่างรอบๆตัว หรือเป็นกลิ่นที่ที่มาจากตนเอง อาจเป็นกลิ่นไม่พึงประสงค์ในช่วงกลางดึก กลิ่นที่มาจากตัวเอง หรือกลิ่นที่ตัวเองชอบลอยมาจากไหนสักที แต่ในความเป็นจริงไม่มีกลิ่นนั้นอยู่
- ประสาทหลอนทางการรับรส ผู้ป่วยจะได้รับรสชาติของอาหารที่แปลกไป หรือเป็นรสชาติที่ตนเองนั้นไม่พึงประสงค์ ในส่วนใหญ่แล้วอาการนี้มักจะพบในผู้ป่วยที่เป็นลมชัก
- ประสาทหลอนทางการสัมผัส ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกเหมือนมีใครมาสัมผัสตัว หรือมีบางสิ่งบางอย่างอยู่ในร่างกายของตนเอง ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้นสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาจริงๆ
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหลอน
สาเหตุของอาการทางจิต หรืออาการหลอนเหล่านี้มีหลากหลายสาเหตุด้วยกัน อาจเกิดได้จากความเจ็บปวดทางร่างกาย หรือจิตใจ รวมถึงพฤติกรรมในการใช้ชีวิต สิ่งแวดล้อม
- สาเหตุที่เกิดจากโรคทางสุขภาพจิต ส่วนมากนั้นจะพบกับอาการหลอนได้บ่อย เช่น โรคจิตเภท อาการเพ้อ ฯลฯ
- สาเหตุที่เกิดจากโรคทางระบบประสาทและสมอง เช่น โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ สมองเสื่อม ไมเกรน โรคลมชัก และ โรคเนื้องอกในสมอง
- การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอเป็นระยะเวลาหนึ่งที่ติดต่อกัน สามารถทำให้เกิดอาการหลอนได้ โดยเฉพาะหากอดหลับอดนอนติดกันหลายวัน
- สารเสพติด และแอลกอฮอล์ เป็นสาเหตุที่เราจะได้ยินข่าวและพบเห็นกันได้บ่อย จากการที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มาก อาจให้หูแว่วหรือเห็นภาพหลอนไปเอง การใช้สารเสพติดที่ผิดกฎหมายจำพวก โคเคน ยาแอลเอสดี และแอมเฟตามีน ก็ทำให้เกิดอาการหลอนได้เช่นกัน
- ยารักษาโรคบางชนิด โดยเฉพาะยาที่ใช้จ่ายให้ผู้ป่วยสูงอายุ จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการ อาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อหยุดใช้ยา แต่ก่อนที่จะหยุดใช้ยาใดก็ตาม ผู้ป่วยต้องทพการปรึกษาแพทย์ก่อน
การวินิจฉัยอาการหลอน
แพทย์นั้นจะมีการสอบถามอาการประวัติและหารตรวจร่างกาย รวมไปถึงการตรวจเพิ่มเติมหากจำเป็น อย่างเช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ การตรวจคลื่นไฟฟ้าในสมอง การตรวจอีจีอี เพื่อค้นหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับคลื่นไฟฟ้าในสมอง นอกจากนี้หากผู้ป่วยมีอาการหลอนที่อาจจะมีสาเหตุมาจากโรคอื่น เช่นเนื้องอกในสมองนั้น แพทย์อาจจะให้ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ เอ็มอาร์ไอ
หากพบว่าคนรู้จักหรือใกล้ชิด มีอาการหลอน ไม่ควรปล่อยไว้เพียงลำพัง เพราะอาการเหล่านี้อาจจะทำให้เกิดอาการหวาดกลัวหรือ หวาดระแวงได้ ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ป่วยนั้นมีพฤติกรรมที่เป็นอันตรายจากสภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง แยกตัวออกจากสังคม มีพฤติกรรมก้าวร้าว ฯลฯ ดังนั้นควรที่จะใส่ใจดูแลผู้ป่วยอยู่เสมอก่อนจะพาไปพบแพทย์ โดยผู้ที่คอยช่วยดูแลนั้นสามารถที่จะเล่าเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วยให้แพทย์ได้ฟังได้